ประวัติมวยไทย

ประวัติความเป็นมา

มวยไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สืบทอดกันมานาน เป็นทั้งการต่อสู้ป้องกันตัวและกีฬา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด แต่ถือว่ามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยเช่นเดียวกับกังฟูของจีน ยูโดและคาราเต้ของญี่ปุ่น และเทควันโดของเกาหลี

 

ประวัติมวยไทย

 

การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย  ได้แก่

๑) สมัยอยุธยา สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ โปรดการชกมวยมากจนทรงปลอมพระองค์มาชกมวยกับชาวบ้าน และชนะคู่ต่อสู้ถึง ๓ คน ดังที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ในหนังสือ ศิลปะมวยไทยว่า พระเจ้าเสือได้ปลอมแปลงพระองค์เป็นสามัญชน มาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของเมืองวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกถึง ๓ คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก โดยทั้ง ๓ คน ได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำจากฝีมือการชกมวยไทยของพระองค์

เมื่อพระมหากษัตริย์โปรดการชกมวยไทยเช่นนี้ ทำให้มีการฝึกมวยไทยกันอย่างแพร่หลายในราชสำนัก และขยายไปสู่บ้านและวัด โดยเฉพาะวัด ถือเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยเป็นอย่างดี เพราะขุนศึกเมื่อมีอายุมากมักบวชเป็นพระ และสอนวิชาการต่อสู้ให้แก่ลูกศิษย์ที่ดี หรือมีความกตัญญูรู้คุณ โดยเฉพาะนักมวยเด่นในยุคหลังๆ ก็เกิดจากการฝึกฝนกับพระสงฆ์ในวัดแทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การฝึกมวยไทยจึงแพร่หลาย และขยายวงกว้างไปสู่สามัญชนมากยิ่งขึ้น

 

ประวัติมวยไทย

การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒

 

๒) นักมวยที่มีฝีมือดีมีโอกาสเข้ารับราชการให้ก้าวหน้าได้ โดยเฉพาะการเป็นทหารในส่วนราชการที่เรียกว่า ทนายเลือก ซึ่งเป็นกรมที่ดูแลนักมวย ที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาความปลอดภัยให้แก่พระมหากษัตริย์

 

๓) เมื่อครั้งนายขนมต้มโดนจับเป็นนักโทษ และก็ถูกต้อนไปอยู่ที่กรุงอังวะ ประเทศพม่า เมื่อ พุทธศักราช ๒๓๑๐ ประเทศพม่าได้จัดให้มีการสังสรรค์ชัย สำหรับในการทำศึกสงครามกับไทย รวมทั้งสุกี้พระนายกองได้เลือกสรรนายขนมต้มให้ขึ้นสังเวียนกับนักมวยเมียนมาร์นายขนมต้มสามารถต่อยชนะนักมวยเมียนมาร์ได้ถึง ๑๐ คน ตามที่รังสฤษฎิ์ บุญชลอ กล่าวไว้ว่า “เมียนมาร์แพ้แก่นายขนมต้มหมดทุกคนจนกระทั่งกับพระผู้เป็นเจ้ากรุงอังวะพูดยกย่องว่า ชาวไทยแม้ว่าจะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงแค่มือเปล่า ๒ ข้าง ก็ยังเป็นพิษสงรอบกาย”ทำให้เห็นว่านักมวยไทยมีฝีมือเป็นที่เลื่องลือ

 

ประวัติมวยไทย

การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒

 

๔) ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นเจ้าเมืองตาก ได้มีทหารเอกคู่ใจที่มีความสามารถด้านมวยไทยมาก และอยู่ในชั้นแนวหน้าของทนายเลือก ชื่อว่า นายทองดี ฟันขาว หรือจ้อย ชาวเมืองพิชัย ซึ่งต่อมาได้เป็น พระยาพิชัยดาบหัก เจ้าเมืองพิชัย

 

สนามมวยราชดำเนิน

สนามมวยราชดำเนิน

 

การพัฒนามวยไทยเป็นการกีฬาต่อสู้ป้องกันตัว

หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๖ มวยไทยได้พัฒนามากขึ้นโดยมีการชกมวยแบบสวมนวมชก และนับคะแนนแพ้ชนะ มีการกำหนดยก นักมวยแต่งกายตามมุม คือ มุมแดง และมุมน้ำเงิน เช่นเดียวกับการชกมวยสากล มีค่ายมวยเกิดขึ้นหลายค่าย และมีนักมวยหลายคนที่มีชื่อเสียง คหบดีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ เจ้าเชตุ ได้ตั้งสนามมวยในที่ดินของตนเอง เพื่อนำรายได้จากการชกมวยไปบำรุงกิจการทหาร ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ การแข่งขันชกมวยจึงหยุดไป หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง การแข่งขันชกมวยไทยได้เฟื่องฟูขึ้นอีก เพราะประชาชนสนใจ

 

สนามมวยลุมพินี
สนามมวยลุมพินี

 

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้มีการจัดตั้งสนามมวยราชดำเนินขึ้น และจัดการแข่งขันชกมวยอาชีพเป็นจำนวนมาก มีนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น สุข ปราสาทหินพิมาย ผล พระประแดง สมาน ดิลกวิลาศ ประสิทธิ์ ชมศรีเมฆ เป็งสูน เทียมกำแหง สุริยา ลูกทุ่ง การชกมวยในระยะนั้น มีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มีการชกมวยข้ามรุ่นกันได้

 

สนามมวยลุมพินี
ป้ายประชาสัมพันธ์การจัดแข่งขันชกมวย

 

 

วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ สนามมวยลุมพินีได้เปิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นักมวยส่วนใหญ่จึงได้ใช้ทั้งเวทีราชดำเนิน และเวทีลุมพินีในการแข่งขันชกมวย โดยทั้งสองสนามนี้ถือว่า เป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทย มีการจัดแบ่งประเภทนักมวยเป็นรุ่นต่างๆ ตามน้ำหนักตัวที่กำหนดขึ้น เกิดกติกามวยไทยอาชีพ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งแก้ไขปรับปรุงจากฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๐ ของกรมพลศึกษา และในวันเสาร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้มีการถ่ายทอดการชกมวยไทยจากสนามมวยราชดำเนินเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นได้มีชาวต่างชาติเดินทางมาฝึกมวยไทย และมีการจัดแข่งขันชกมวยกับนักมวยไทยอยู่เสมอๆ

 

มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี

วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เปิดสอนสาขามวยไทยในระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอก

 

วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เปิดสอนสาขามวยไทยในระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอก

ต่อมากีฬามวยไทยมีการพัฒนาจนก่อตั้งเป็นสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้การชกมวยไทยต้องมีเครื่องป้องกันอันตราย เพื่อให้นักมวยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาแข่งขันมากขึ้นในแต่ละปี และมีการถ่ายทอดการชกมวยทางโทรทัศน์มากขึ้นด้วย ทำให้ธุรกิจมวยขยายตัวออกไปกว้างขวาง ในต่างจังหวัดมีเวทีมวยเกิดขึ้นหลายแห่ง เปิดโอกาสให้นักมวยที่มีฝีมือจากต่างจังหวัด เดินทางเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การชกมวยไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งเพื่อผลแพ้ชนะและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ศิลปะและแก่นแท้ของมวยไทย นับวันจะเลือนหายไป ถึงแม้จะมีหลักสูตรการเรียนกันในบางสถาบันการศึกษาก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันมีการเรียนการสอนมวยไทยในระดับบัณฑิตศึกษา คือ วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏ

หมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี เริ่มเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขามวยไทย ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามวยไทยศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ และต่อมาพัฒนาเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาเอกชื่อว่า หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขามวยไทยศึกษา (ปัจจุบันมีการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต)

มวยไทยจึงเริ่มพัฒนาเข้าสู่วิชาการเรียนการสอน เพื่อการอนุรักษ์ และแสวงหาคุณค่าทางภูมิปัญญาไทยมากขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน โดยมีคณาจารย์ประจำหลักสูตร เช่น ดร. ศักดิ์ชัย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมสภามวยไทยสมัครเล่นโลก ดร. แสวง วิทยพิทักษ์ กรรมการเทคนิคผู้ตัดสินมวยไทยจากสนามมวยราชดำเนิน รองศาสตราจารย์ ดร. สมพร แสงชัย เจ้าตำรับครูมวยพระยาพิชัย

ดาบหัก รวมไปถึง รองศาสตราจารย์ชัยสวัสดิ์ เทียนวิบูลย์ ครูมวยสยามยุทธ์ นอกจากนี้ยังมี รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี พงศ์พิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญาไทย มาช่วยกันสร้างสรรค์จรรโลง ให้องค์ความรู้ของบรรพบุรุษที่มีมานานนับสองพันปีอยู่ยั่งยืนตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน

 

 

 

เรียบเรียงโดย: McContent

ที่มา: http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=35&chap=3&page=t35-3-infodetail01.html