การฝึกทำสมาธิ

การฝึกทำสมาธิถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเราเอง การทำสามาธินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเราเองที่บ้าน ไม่ต้องเสียเงินก็ทำสมาธิได้ ที่สำคัญทำให้เราเข้าถึงธรรมะได้ง่ายขึ้นจากการทำสมาธิที่หลายคนคิดว่าน่าเบื่ออ
แต่จริงๆแล้วการทำสมาธิเป็นเรื่องที่น่าสนุก เราต้องลองเปิดใจด้วยตัวเราเอง ใครที่สมาธิสั้น แรกๆ ที่ทำสมาธิอาจจะจิตใจวกวนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ทำสมาธิไม่ได้นาน แต่ถ้าค่อยๆ ฝึกฝนกันไปทีละเล็กน้อย ก่อนนอนก็นั่งสมาธิสัก 15-20 นาทีก็ทำให้เรามีจิตใจที่สงบขึ้น

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ

  • ทำให้จิตใจผ่องใส ใจเย็นมากขึ้นและมีความอดทน
  • ทำให้เราคิดแต่ในสิ่งที่ดีในแง่บวก ไม่โมโหร้าย
  • มีสมาธิในการอ่านหนังสือ
  • เป็นการพัฒนาบุคลิกภาพให้ดีด้วยการนั่งสมาธิ
  • ทำให้เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี
  • ช่วยคลายเครียดได้
  • ทำให้เรามีความสงบมากขึ้น

ก่อนฝึกสมาธิ

  • พยายามตัดความกังวลทุกอย่างออกไป เช่น ควรจัดการงานที่คั่งค้างอยู่ในเสร็จก่อนเริ่มทำสมาธิ เพื่อไม่ให้ห่วงหน้าพะวงหลัง
  • หาสถานที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่านจอแจ อากาศถ่ายเท เย็นสบาย เพื่อให้เข้าถึงสมาธิได้เร็วมากขึ้น
  • ควรอาบน้ำ ล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้าก่อน เพื่อให้ตัวรู้สึกสบายมากที่สุด เมื่อร่างกายสงบ จิตใจจะสงบได้ง่ายขึ้น
  • อย่าตั้งใจมากเกินไป ว่าจะต้องให้ได้ขั้นนั้น ขั้นนี้ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเคร่งเครียดมากขึ้น จิตใจจะพะวงไปแต่อนาคต ไม่สามารถควบคุมจิตใจให้อยู่ ณ ปัจจุบัน

ขณะฝึกสมาธิ ควรปฏิบัติตนดังนี้

  • กราบบูชาพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เพื่อเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจ
  • ควรนั่งทำสมาธิในท่าขัดสมาธิ นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ขวาจรดนิ้วหัวแม่มือซ้าย วางไว้บนตัก หลังตรง ศีรษะตรง ไม่ควรนั่งพิง เพราะจะทำให้ง่วงได้ง่าย กรณีเป็นคนป่วย หรือคนที่ไม่สามารถนั่งท่าขัดสมาธิได้ ก็สามารถนั่งบนเก้าอี้แทนได้ จากนั้นทอดตาลงต่ำ อย่าเกร็ง เพราะจะทำให้ร่างกายปวดเมื่อย แล้วค่อย ๆ หลับตาลง
  • หากเกิดอะไรขึ้นอย่าตกใจ และอย่ากลัว เพราะทั้งหมดเป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้น ให้ตั้งสติเอาไว้ในมั่นคง ทำจิตใจให้ปกติ หากเห็นภาพที่น่ากลัวให้สวดแผ่เมตตาให้สิ่งเหล่านั้น หรือนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรายึดไว้เป็นที่พึ่งทางใจ ถ้าภาพเหล่านั้นไม่หายไป ให้ตั้งสติเอาไว้ หายใจยาว ๆ แล้วถอนสมาธิออกมา เมื่อจิตใจมั่นคงเป็นปกติแล้ว จึงค่อยทำสมาธิใหม่อีกครั้ง โดยควรสวดมนต์ไหว้พระ อธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองการปฏิบัติของเราด้วย
  • เมื่อเริ่มฝึกสมาธิใหม่ ๆ ควรใช้เวลาแต่น้อยก่อน เช่น 5-15 นาที จากนั้นเมื่อฝึกบ่อย ๆ แล้วจึงค่อยเพิ่มระยะเวลาขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจค่อย ๆ ปรับตัวตาม หากรู้สึกปวดขา หรือเป็นเหน็บ ให้พยายามอดทนให้มากที่สุด หากทนไม่ไหวจึงค่อยขยับ แต่ควรขยับให้น้อยที่สุด เพราะการขยับแต่ละครั้งจะทำให้จิตใจกวัดแกว่ง ทำให้สมาธิเคลื่อนได้ แต่ถ้าหากอดทนจนอาการปวด หรือเป็นเหน็บเกิดขึ้นเต็มที่แล้ว อาการเหล่านั้นจะหายไปเอง แล้วจะเกิดความรู้สึกเบาสบายขึ้นมาแทนที่
  • ส่งจิตไปให้ทั่วร่างกาย ว่ามีกล้ามเนื้อส่วนใดเกร็งอยู่หรือไม่ แล้วค่อย ๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนนั้น พยายามกำหนดลมหายใจเข้าออกให้ลึก ๆ มี “สติ” อยู่กับลมหายใจ ตรงจุดที่ลมกระทบปลายจมูก
  • หากเกิดเสียงดังขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงคนพูด เสียงสิ่งของกระทบกัน ให้ถือว่าไม่ได้ยินอะไร และอย่าไปใส่ใจกับมัน
  • เมื่อจะออกจากสมาธิ ให้สังเกตดูว่า ใจของเราเป็นอย่างไร แล้วแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย อุทิศส่วนกุศลที่ได้จากการทำสมาธินั้นให้กับเจ้ากรรมนายเวร ผู้มีพระคุณของเรา แล้วหายใจยาว ๆ ลึก สัก 3 รอบ ก่อนค่อย ๆ ถอนสมาธิช้า ๆ ค่อย ๆ ลืมตาขึ้น

ดั้งนั้นการทำสมาธิได้ประโยชน์มากมาย ขึ้นอยู่กับเราว่าจะทำสมาธิตอนไหน แบบไหนก็ได้ แนะนำว่าให้หาที่สงบเงียบ เป็นส่วนตัว ไม่วุ่นวาย จะได้ทำสมาธิได้อย่างไม่มีอะไรมากวนใจ ที่สำคัญการนั่งสมาธิได้บุญกุศลที่ดีต่อตัวเราเอง ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนและไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น