ปัจจุบันเวลามีงานศพ เรามักจะเห็นคนนิยมส่งพวงหรีดให้กับเจ้าภาพ เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่ผู้ล่วงลับ แต่รู้กันไหมว่า จริงๆแล้วต้นกำเนิดของพวงหรีดมาจากไหน? แล้วกลายมาเป็นที่นิยมในสังคมปัจจุบันได้อย่างไร? วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบของเรื่องนี้กันค่ะ

ต้นกำเนิดของพวงหรีด

พวงหรีดมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมอีทรัสคันในแถบทวีปยุโรปตอนใต้ เนื่องจากมีการพบมงกุฎทองสำหรับนักรบเมื่อเวลาออกรบ เพื่อเป็นเกียรติยศโดยแกะเป็นลายใบไม้และดอกไม้ อายุราว 400 ปีก่อนคริสตกาล จึงคาดว่ามงกุฎดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำพวงหรีด ต่อมาชาวคริสเตียนในศตวรรษที่ 16-19 ได้นำกระดาษและริบบิ้นมาตัดเป็นดอกไม้ใบไม้รูปพวงหรีดเพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสต์เจ้า (Advent) จากนั้นจึงได้เปลี่ยนมาใช้ดอกไม้สดแทน เพราะมีความสวยงามกว่า ซึ่งหน้าตาก็จะเป็นแบบทรงกลม ประดับด้วยดอกไม้สด แต่มีขนาดที่เล็กกว่า เพราะจะได้นำไปแขวนไว้ในโบสถ์ได้ ภายหลังในยุควิคตอเรียนความหมายของดอกไม้กว้างมากขึ้น พวงหรีดจึงถูกกลายเป็นสิ่งที่แสดงความอาลัยให้กับผู้ที่ตายด้วยเช่นเดียวกัน

พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นสมัยที่มีการรับเอาอารยธรรมตะวันตกหลายอย่างเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงพวงหรีดด้วย เพื่อใช้เป็นสื่อแทนความโศกเศร้า ดังจะเห็นได้จากหลักฐานภาพถ่ายการนำดอกไม้หลากหลายชนิดมาตกแต่งเป็นพวงกลมคล้ายพวงหรีดครั้งแรก ในพระเมรุของสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา หรือ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ในพ.ศ. 2447 

จากนั้นพวงหรีดได้เริ่มแพร่หลายในงานศพของชนชั้นสูงมากขึ้น จนกระทั่งเข้าถึงชนชั้นกลาง และคนทั่วไป ซึ่งก็มีความหมายแฝงอยู่ในดอกไม้ที่ใช้ประดับพวงหรีด นั่นคือ ดอกไม้ย่อมเหี่ยวเฉาตามกาลเวลาเปรียบเสมือนกับชีวิตมนุษย์ที่ย่อมประสบการเกิดแก่เจ็บตายไม่ยั่งยืนนั่นเอง นอกจากนี้ดอกไม้ยังสามารถสื่อถึงความหมาย อารมณ์และความรู้สึกได้มาก ทำให้พวงหรีดกลายเป็นสัญลักษณ์ของการไปงานศพจวบจนปัจจุบันนี้ 

แหล่งอ้างอิง : https://www.lovelinkflower.com/wreath-p1